ปลุกเมืองไทยให้รู้จักไปทั่วโลกด้วย “Festival Economy”

editor image

ถ้าพูดถึงคำว่า “เทศกาล” หรือ “Festival” หลายคนคงนึกถึงกิจกรรมที่จัดเพื่อเฉลิมฉลองในชุมชน หรือเป็นการอนุรักษ์และสืบต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี ภูมิปัญญา ความเชื่อ ของคนแต่ละพื้นที่ อาทิ เทศกาลลอยกระทง สงกรานต์ แห่บุญบั้งไฟ เแห่เทียนพรรษา ถือศีลกินเจ คริสต์มาส เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันเมื่อกระแสของโลกเปลี่ยนไป ผู้คนได้หันมาให้ความสนใจกับไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดงานเทศกาลรูปแบบใหม่ที่ได้มีการจัดงานทั่วทุกมุมโลกอาทิ มหกรรมงานศิลปะที่เก่าแก่และชื่อดังระดับโลกอย่างงาน Art Biennale ที่มีการจัดงานนี้ในหลายภูมิภาคทั่วมุมโลก แม้แต่ประเทศไทยก็มีการจัดงานเทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คืองาน Thailand Biennale Krabi 2018 และงานที่กำลังจัดล่าสุดอย่าง Thailand Biennale Korat 2021 เป็นต้น 

ทีเส็บ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของแต่ละเมืองและชุมชนทั่วไทย ที่นำมาสร้างมรดกทางเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาลให้กับเมืองและชุมชน จึงได้กลายเป็นที่มาของ Festival Economy หรือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล โดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) มาผสานเข้ากับการออกแบบกิจกรรม (Experience Design) ก่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองผ่านการจัดงานเทศกาล

อีกทั้ง ทีเส็บ ยังร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่าย 5 สมาคมหลัก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและจัดงาน      อีเวนต์สุดสร้างสรรค์ ได้แก่ สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA), สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA), สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA), สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) ในการร่วมออกแบบและสร้างสรรค์งานเทศกาลที่เหมาะสมให้แต่ละเมือง ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น “หนึ่งเมือง หนึ่งสิทธิบัตรงานเทศกาลนานาชาติ หรือ 1 City 1 IP (Intellectual Property)” ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเมือง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

โดย Festival Economy นี้จะเป็นเครื่องมือดึงดูดกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่หลงไหลในวัฒนธรรมต่างถิ่นและชอบแสวงหาประสบการณ์รูปแบบใหม่ ให้เดินทางเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองและชุมชนผ่านการจัดงานเทศกาลได้ อย่างเช่น “เทศกาล HUA HIN HOP FEST 2021” ที่จัดในรูปแบบไฮบริด โดยมีคอนเซ็ปต์ของงานคือ Nostalgia : เมืองเก่า เล่าใหม่ ที่รวบรวม City DNA ทั้งด้านสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า งานศิลปะ ดนตรีของเมืองหัวหินมาเล่าใหม่ผ่านงานนี้ ถือเป็นต้นแบบนำร่องให้เกิดการผลักดัน Festival Economy ในเมืองต่าง ๆ ที่กำลังจะจัดขึ้นตามมาในอนาคต

นอกจากนี้ Festival Economy ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ กระจายรายได้ กระจายความเจริญ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเมือง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนและเมืองในการนำวัฒนธรรมหรือหาอัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) มาแสดงให้โลกรู้จักมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนต้องร่วมด้วยช่วยกันในฐานะเจ้าของพื้นที่ (Owner) เพื่อให้งาน Festival Economy ประสบความสำเร็จและเติบโตขึ้นจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างยั่งยืน

ที่มาจาก; bangkokbiznews.com   matichon.co.th  thumbsup.in.th  workpointtoday.com khaosod.co.th

thansettakij.com siamrath.co.th


แชร์บทความ