19 ตุลาคม 2564 กรุงเทพฯ: ศบค. เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนการจัดงานไมซ์ตามข้อเสนอทีเส็บเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ โดยทีเส็บกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ภายในตุลาคมจนถึงสิ้นธันวาคมนี้ เตรียมรองรับงานไมซ์จ่อคิวรอจัดกว่า 1,000 กลุ่ม ในกรุงเทพและภูมิภาคทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ รวมทั้งการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ก่อนเปิดทำการด้วย ตลอดจนการจัดงานก็ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติการจัดงานไมซ์ไว้ 3 ระดับ คือ
1. แนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ COVID FREE Environment ดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยในด้านความสะอาดของพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมในทุกพื้นที่ของสถานที่จัดงาน มีบริการจุดล้างมือหรือแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ บริการอาหารเครื่องดื่มแยกชุด มีการคัดกรองผู้จัดงานและพนักงาน มีการสื่อสารมาตรการแนวปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วมงานและพนักงานทราบล่วงหน้าและสื่อสารระหว่างที่เข้าร่วมงาน มีแผนการบริหารความเสี่ยง แผนเผชิญเหตุ มีการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ลดความแออัดโดยจำกัดจำนวนคนต่อพื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร จำกัดเวลาประชุมไม่เกินช่วงละ 2 ชั่วโมง และดูแลการระบายอากาศของสถานที่จัดงาน
2. แนวปฏิบัติด้านผู้ให้บริการ หรือ COVID FREE Personnel ผู้จัดงาน และสถานที่จัดงาน ต้องจัดให้พนักงานทุกคนได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีการคัดกรองความเสี่ยงและบันทึกประวัติทุกวัน โดยผู้จัดงานต้องตรวจแอนติเจน (Antigen Test Self-Test Kits: ATK) ก่อนวันจัดงานอย่างน้อย 72 ชั่วโมง พนักงานประจำสถานที่จัดงานควรตรวจแอนติเจนทุก 7 วัน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงานและระหว่างพัก กำหนดโซนการปฏิบัติงานและเลี่ยงการทำงานข้ามเขตหรือข้ามแผนก
3. แนวปฏิบัติด้านผู้เข้าร่วมประชุม หรือ COVID FREE Customer ต้องมีการตรวจสอบประวัติความเสี่ยง หลักฐานการรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และผู้เข้าร่วมงานต้องปฏิบัติยึดหลัก DMHTA อย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วย D-Distancing การเว้นระยะห่าง, M-Mask Wearing สวมหน้ากาก, H-Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ, T-Testing Temperature ตรวจอุณหภูมิก่อนเข้างาน, และ A-Application เช็คอินโดยใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ รวมถึงการประเมินอาการระหว่างและหลังการเข้าร่วมงานอย่างน้อย 14 วัน
ซึ่งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทะเบียน และกำกับติดตามโดยผู้จัดงาน สมาคมที่เกี่ยวข้อง และทีเส็บ ทั้งนี้มาตรการอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://covid19.anamai.moph.go.th/th/
สำหรับการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค มาตรการเดิมกำหนดการรวมกลุ่มตามระดับพื้นที่ ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวัง คือ 25, 50, 100, 200, 500 คน ปัจจุบันจากมาตรการที่เสนอปรับวันที่ 16 ตุลาคม ได้ปรับเพิ่มการรวมกลุ่มตามระดับพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวัง คือ 50, 100, 200, 300, 500 คน
ด้านการกำกับดูแลการจัดงานหรือกิจกรรมไมซ์ จะเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้จัดงาน สมาคม และทีเส็บ โดยอยู่ภายใต้การกำกับติดตามของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยผู้จัดงานจะต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และเลือกสถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ และ TMVS Plus 2HY เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การจัดงานจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเมือง และพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานหรือเขตที่รับผิดชอบอนุมัติจัดงานด้วย โดยผู้จัดงานต้องดำเนินการเพื่อขออนุมัติการจัดงานใน 5 ขั้นตอน คือ
1. PLAN การวางแผนจัดงานโดยอ้างอิงแนวทาง COVID Free Setting จัดทำแผนเผชิญเหตุ เลือกใช้สถานที่จัดงานที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ และ TMVS Plus 2HY
2. SUMMIT เสนอแผนการจัดงานต่อคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดงาน
3. AGREE คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นชอบต่อการจัดงานและให้คำแนะนำ หากมีการแก้ไข ผู้จัดงานต้องดำเนินการปรับแก้ไขตามคณะกรรมการฯ
4. IMPLEMENT ปฏิบัติตามแนวทาง COVID Free Setting และมีผู้กำกับปฏิบัติตามมาตรการทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ทำการสุ่มกำกับการจัดงาน
5. REPORT นำส่งรายงานหลังการจัดงานให้กับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อย 14 วัน
นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทีเส็บและภาคีเครือข่ายด้านไมซ์ยังเดินหน้าผลักดันข้อเสนอมาตรการผ่อนปรนการจัดงานไมซ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการผ่อนปรนในช่วงระยะต่อไปที่นำเสนอไปและมติที่ประชุม ศบค. ได้เห็นชอบ โดยรายละเอียดของมาตรการจะมีการหารืออีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดงานไมซ์ ซึ่งเสนอแบ่งเป็นช่วงระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (1-30 พฤศจิกายน 2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน จัดงานแสดงสินค้า (ไม่มีการชิมอาหาร) งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
ระยะที่ 2 (1-31 ธันวาคม 2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คน จัดงานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่าง ๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
ระยะที่ 3 (1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) เปิดให้จัดได้ในทุกกิจกรรม จัดงานได้ตามเหมาะสม โดยจัดได้เต็มพื้นที่ 100% เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร