Soft Power อำนาจแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างเศรษฐกิจไทย

ภาพร้านข้าวเหนียวมะม่วงทั่วทุกมุมตึก คิวต่อแถวลูกชิ้นยืนกิน ณ สถานีรถไฟบุรีรัมย์ หรือ ยอดขายหมูกระทะย่านโชคชัย 4 ที่พุ่งสูงถล่มทลาย ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของ “อำนาจละมุน” หรือ Soft Power ที่สร้างปรากฎการณ์มหาศาลปราศจากความละมุนดั่งชื่อ ทว่ากระแสอำนาจนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจสากลนี้มาอย่างยาวนานโดยไม่รู้ตัว วันนี้เราจึงพามาทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วอำนาจละมุนนี้คืออะไร ส่งผลต่อสังคมอย่างไร และเหตุใดจึงเป็นอำนาจที่ทั่วโลกต่างปรารถนานำมาใช้ขับเคลื่อนประเทศ

editor image

 [พอใจอย่างแรงกล้า และ เห็นพ้องอย่างนุ่มนวล] 

การนิยามว่า Soft Power คือ การเผยแพร่วัฒนธรรม อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและคับแคบเกินไป ดร.โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ริเริ่มจำกัดคำนิยามของ Soft Power ได้อธิบายความหมายที่แท้จริงไว้ดังนี้

“This second aspect of power-which occurs 
when one country gets other countries to want 
what it wants-might be called co-optive or 
soft power in contrast with the hard or command 
power of ordering others to do what it wants.”

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายคือ เป็นความสามารถที่ทำให้ผู้อื่น “ต้องการ” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่คุณต้องการ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดึงดูดความต้องการของผู้อื่นให้พวกเขาเกิดการยอมรับด้วยความ “เต็มใจ” ปราศจากการบังคับ ขู่เข็ญ เพราะเมื่อไม่มองสิ่งแปลกใหม่ว่าเป็นศัตรูแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มจะลดอาการต่อต้านและเปิดใจยอมรับมากกว่าโดยสัญชาตญาณ เหตุนี้ Soft Power จึงไม่ใช่การเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ในมิติความบันเทิงและความมั่นคง ได้ให้ความเห็นว่า Soft Power เป็นอำนาจการโน้มน้าวแบบหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เท่านั้น ซึ่งตรงกับการจำแนกของ Nye 

การปรับรูปแบบของวัฒนธรรมให้สามารถสอดแทรกเข้ากับผลประโยชน์หรือค่านิยมของประเทศเป้าหมายได้ เพิ่มโอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น Soft Power ของประเทศนั้น เพราะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นศัตรู หากแต่เป็นโอกาสในการต่อยอดสิ่งดีงามใหม่ ทำให้ประเทศเป้าหมายรู้สึกต้องการโอกาสนี้และเปิดใจยอมรับได้อย่างเต็มใจ ดังเช่นศิลปินสัญชาติไทย ลิซ่า Blackpink ที่สามารถใช้พื้นที่ในวงการ K-pop และเวทีโลก ในการสอดแทรกความเป็นไทยผ่านภาษา การไหว้ หรือกระทั่งเรื่องราวของเธอ หรือแร็ปเปอร์ไฟแรงมิลลิ ดนุภา ที่ปลุกกระแสข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีระดับโลก Coachella จนทุกชาติต่างถามหา ด้วยการแทรกซึมวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่นี้เอง จึงดึงดูด ส่งอิทธิพล และเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลกไปโดยปริยาย

editor image

[มองมุมกลับ และ ปรับมุมมอง]

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วัฒนธรรมอเมริกา มีอิทธิพลและแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของแทบทุกชนชาติมายาวนาน ความนิยมเสื้อยืดลายธงชาติอเมริกา วงดนตรีชื่อดัง ดนตรี อาหาร ภาพยนตร์ ภาษา ล้วนเป็นวัฒนธรรมสากลที่มีอิทธิพลทั่วโลก หากสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จนี้ จะเห็นว่า 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ การสร้างความนิยม และอำนาจการสนับสนุน ยกตัวอย่างที่เด่นชัด คือ สื่อบันเทิง จากการสนับสนุนและขยายฐานอำนาจของวิทยุและสื่อโทรทัศน์ของอเมริกา ทำให้ภาพยนตร์อเมริกันกระจายสู่สายตาโลกอย่างต่อเนื่อง สร้างความนิยมโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านสื่อ ซึ่งไม่เพียงสร้างการเติบโตให้กับวงการบันเทิงอเมริกันเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ Soft Power พัฒนาไปอีกขั้น เห็นได้จาก “ภาษา” เช่น ซีรีส์ Friends ซึ่งกลายเป็นซีรีส์ที่เยาวชนทั่วโลกต่างใช้เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ และส่งผลต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกันโดยปริยาย สร้างแรงดึงดูดกระแสอเมริกันอย่างแนบเนียน ส่งผลถึงระดับจิตใต้สำนึกให้ผู้ชมต้องการมาเยือนเพื่อสัมผัสวิถีอเมริกันจริง ๆ สักครั้ง 

จากบทเรียนนี้ สามารถเรียนรู้สิ่งสำคัญได้ 2 ประการ “คุณค่า” และ “ความต่อเนื่อง” วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอดถ้าเรารู้จักการสร้างคุณค่า และได้รับการสนับสนุนให้ Soft Power ขยายและพัฒนาศักยภาพได้ต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้เป็นเพียงกระแสชั่วครู่ จึงทำให้ Soft Power  พัฒนาตนเองไปได้ตามบริบทที่ควรเป็น ไม่จำกัดที่สินค้าวัฒนธรรมเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาภาพกว้าง ไม่ปล่อยให้อำนาจถูกจำกัด แต่ต้องแนบเนียน และอ่อนโยน ไม่ให้เกิดการยัดเยียด มิฉะนั้นจะกลายเป็นกระแสต่อต้าน 

แท้จริงแล้วการประสบความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่อัตลักษณ์ของชาติ เพราะทุกชนชาติต่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นซึ่งเป็นการยากและนามธรรมเกินไปหากจะแข่งขัน แต่อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักมองมุมกลับเพื่อปรับมุมมองต่อวัฒนธรรมตนในทิศทางใหม่ ก็จะสามารถรักษาอำนาจไว้ได้อย่างละมุนและยาวนาน ดังกรณีตัวอย่างอเมริกา

[อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไมซ์ไทยกับบทบาทในการขับเคลื่อน Soft Power สู่สากล]

ทุกท่านคงเข้าใจ และเห็นประจักษ์ถึงอิทธิพลของอำนาจละมุนที่ทรงพลังแล้ว จึงเป็นผลให้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำความสำคัญของนโยบายสนับสนุน Soft Power เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก พร้อมยังแนะนำหน่วยงานรัฐให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคลากรเบื้องหลังเพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด ตามนโยบายที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ให้กลายเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting)  และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)

ปัจจุบันประเทศไทยได้คะแนนจาก Global Soft Power Index 2022 ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามและความสำเร็จก้าวแรกในการผลักดัน Soft Power ของประเทศไทย โดยมีคะแนนอยู่ที่ 40.2.คะแนน บวกขึ้นมา 1.5 คะแนนจากปีก่อน อยู่ในลำดับ 35 จากทั้งหมด 120 ประเทศ อันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 6 ของเอเชีย โดยวัดดัชนีรวบรวมมิติด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การบริหารงานของรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 และการแทรกซึมของสินค้า บริการ ค่านิยม แนวคิดของประเทศต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
editor image

Soft Power กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มุ่งสู่นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy พัฒนามาจากองค์ความรู้ทรัพย์สินทางปัญญา การศึกษา และการสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ 

บทบาทของทีเส็บจึงเข้ามาผลักดันนโยบายนี้ ผ่านการสร้างสรรค์งานประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้า รวมถึงอีเวนท์ทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นสะพานเชื่อมให้ Soft Power ได้ขยายศักยภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ Dubai Expo ที่ทีเส็บเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์สร้างสรรค์ โดยการจัดแสดงผ่าน รถตุ๊กตุ๊กไทย ด้วยโปรแกรมจำลองการขับแบบเสมือนจริง (ซิมูเลเตอร์) ที่พร้อมต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้มแบบไทย 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอีกมากมาย อาทิ APEC 2022, ICCA Congress 2023, มหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี 2569 และ Expo 2028 Phuket หวังนำเสนอวัฒนธรรมความเป็นไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำมาสู่การผลักดันเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง และแน่นอนว่าการเข้ามาของงานประชุมและนิทรรศการเหล่านี้ ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความนิยมและการยอมรับในศักยภาพของประเทศเจ้าบ้านในฐานะจุดหมายปลายทางในฝันของนักเดินทางทั่วโลก บทบาทของ Soft Power จะมีทิศทางอย่างไร ขยายศักยภาพไปถึงจุดไหน ทีเส็บจะอัพเดตความเคลื่อนไหวให้ชาวไทยร่วมภาคภูมิใจไปพร้อมกัน

แชร์บทความ