18 สิงหาคม 2565: ทีเส็บเปิดโครงการกระตุ้นการตลาด Thailand MICE Back เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์รองรับการเปิดประเทศผ่าน 4 แผนงานหลัก หวังกระตุ้นการจัดงาน สร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาค ดันเป้าหมายนักเดินทางไมซ์รวม 6,130,000 คน สร้างรายได้รวม 28,400 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเร่งกระตุ้นการจัดงานและการเดินทางของนักเดินทางไมซ์ ขานรับนโยบายรัฐบาลรองรับการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยโครงการกระตุ้นการตลาด “Thailand MICE Back” เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เร่งกระตุ้นให้เกิดการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมดึงงานไมซ์ระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยร่วมบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้ 4 แผนหลัก ตามกลยุทธ์ B-A-C-K ประกอบด้วย
1. แผนการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ (กลยุทธ์ B: Build Confidences & Trust) เร่งส่งเสริมการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ เจาะกลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ ทั้งสถานที่จัดงานและผู้จัดงาน ได้แก่ มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) มาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน (AMVS) มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน (TSEMS) และการจัดงานไมซ์ที่ปลอดภัยด้วยแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Hygiene Guidelines) แนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม (Practices for Muslim Friendly Meetings and Exhibitions) รวมถึงการพัฒนาด้านการใช้นวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจไมซ์ ได้แก่ การใช้แอปพลิเคชัน BIZ Connect และแพลตฟอร์มออนไลน์แบบครบวงจรอย่าง Thai MICE Connect และ MICE Innovation Catalogue ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด เพื่อสอดรับกับการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ทีเส็บในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ได้รับการประกาศให้เป็นองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการจัดประชุมนิทรรศการ โดยเพิ่มบทบาทเป็นศูนย์กลางการทดสอบฝีมือแรงงาน และให้การรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพของบุคลากรไมซ์ ซึ่งบุคลากรสามารถเข้ามาประเมินความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะด้านวิชาชีพไมซ์ตามหลักเกณฑ์การประเมิน โดยทีเส็บมีเป้าหมายยกระดับองค์กรสู่การเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในระดับอาเซียนอีกด้วย
นอกจากนี้ ทีเส็บเตรียมแผนการเข้าสู่การเป็นสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม (CVB- Convention and Visitors Bureau) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในการรับรองสมรรถนะบุคคลในวิชาชีพ ISO 17024 รวมถึงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาและยกระดับความสามารถบุคคลากรไมซ์ในสายงานสาขาการจัดกิจกรรม (Event Professionals) เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และเพิ่มความมั่นคงในอาชีพแก่บุคลากรด้านอีเวนต์ (Event) และบุคลากรด้านการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ตามข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: ASEAN MRA - TP)
2. แผนกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในประเทศ (กลยุทธ์ A: Accelerate Dream MICE Activity) จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการทางภาษีในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง ซึ่งบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงในการจัดอบรมสัมมนาและการจัดนิทรรศการงานแสดงสินค้าภายในประเทศไปลดหย่อนภาษีได้ โดยบริษัทต้องมีการจ่ายจริงตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นั้น
ทีเส็บเร่งดำเนินการกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ในประเทศอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย ด้วยการสนับสนุนผ่านแพ็กเกจกระตุ้นการจัดงานไมซ์ทุกประเภท ได้แก่ แพ็กเกจสำหรับงานประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศ แพ็กเกจสำหรับงานประชุมวิชาการในประเทศ และแพ็กเกจสำหรับงานแสดงสินค้าภายในประเทศ แบ่งเป็น งานแสดงสินค้าใหม่ (New Show) งานแสดงสินค้าที่มีการยกระดับ (Upgrade Show) และงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคโครงการ Empower Thailand Exhibition (EMTEX) โดยมีเงื่อนไขและเกณฑ์การสนับสนุนตามที่ทีเส็บกำหนด
3. แผนส่งเสริมภาพลักษณ์และการสื่อสารอุตสาหกรรมไมซ์ (กลยุทธ์ C: Communication and Inspire the World) สร้างการรับรู้อุตสาหกรรมไมซ์ผ่านแบรนด์ “THAILAND MICE” ทั้งการสื่อสารในและต่างประเทศ โดยมุ่งเจาะตลาดจังหวัด 10 เมืองไมซ์ และภูมิภาคเอเซียและตะวันออกกลาง เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก สอดรับกับแผนประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศที่ขับเคลื่อนผ่านแนวคิด New Chapter of Thailand ก้าวใหม่ไทยในช่วงหลังโควิด โดยแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะเน้นสื่อสารโอกาสทางธุรกิจใหม่ (New Opportunity) และนวัตกรรมใหม่ (New Innovation) สู่การเปิดมิติใหม่ของไมซ์ไทยสำหรับสื่อสารต่างประเทศภายใต้แบรนด์ “Thailand MICE: Meet the Magic” และสื่อสารในประเทศภายใต้แบรนด์ “ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ” ด้วยการค้นพบมนต์เสน่ห์แห่งอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ การสื่อสารอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ใช้การบูรณาการสื่อทุกช่องทางแบบ 360 องศา มุ่งเน้นสื่อออนไลน์ เพื่อเข้าถึงพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในยุคนิวนอร์มัล และครอบคลุมสื่อออฟไลน์ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อป้ายโฆษณากลางแจ้ง (Out of Home) รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ KOLs (Key Opinion Leader) ร่วมสื่อสารถ่ายทอดประสบการณ์ไมซ์ เพื่อเข้าถึงจำนวนคนรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ รวมไม่ต่ำกว่า 75 ล้านคน/ครั้ง
ล่าสุด ทีเส็บเปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสำหรับสื่อสารในประเทศ “ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ” ผ่านภาพยนตร์โฆษณาในรูปแบบ “Music Marketing” ภายใต้แนวคิด “วันนี้ห้องประชุมเปิดกว้างทั่วเมืองไทย” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมออกมาจัดประชุม อบรม สัมมนาในที่ใหม่ๆ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับพนักงานในองค์กร สร้างความสามัคคี นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปด้วยกัน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
4. แผนการดึงงานระดับโลกและการเพิ่มจำนวนงานไมซ์ต่างประเทศ (กลยุทธ์ K: Kick off World Events Bidding) ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก เช่น งาน The International Conference on Family Planning 2022 (ICFP 2022) การประชุมวิชาการวางแผนครอบครัวนานาชาติ เพื่อหารือด้านสุขภาพอนามัย และการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก วันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2565, งาน 62nd ICCA Congress (ICCA Congress 2023) การประชุมสมาคมการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 62 วันที่ 12 – 15 พฤศจิกายน 2566, งาน Udon Thani International Horticultural Expo 2026 หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 และงาน Thailand International Air Show ซึ่งมีกำหนดจัดงานประกาศตัวในปี 2566 โดยงานจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 และมีการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570
นอกจากนี้ ยังมีงานที่อยู่ในขั้นตอนการประมูลสิทธิ์ ได้แก่ งานเอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ประเทศไทย มีกำหนดจัดวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน 2571 และ งาน Nakhon Ratchasima International Horticultural Expo 2029 หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กำหนดจัดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 – 28 กุมภาพันธ์ 2573
สำหรับไตรมาสสุดท้ายปีงบประมาณ 2565 ยังมีงานไมซ์อีกมากมายจัดขึ้นทั่วประเทศ เช่น งาน Maintenance, Industrial Automation, and Robotics (MiRA) และ SUBCON EEC 2022 งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โซลูชันอุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูงด้านการบำรุงรักษา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมแห่งภาคตะวันออก วันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2565 พัทยา, งาน Defense & Security 2022 งานแสดงเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพและเทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัย วันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2565 กรุงเทพฯ, งาน Health Living and Innovation Expo 2022 งานแสดงสินค้า บริการ และนวัตกรรมเพื่อผู้รักสุขภาพ วันที่ 8 – 11 กันยายน 2565 สงขลา และงาน Korat FooDEx โคราชฟู้ดเด๊กซ์ ทีเด็ดอาหารทั่วไทย วันที่ 14 – 18 กันยายน 2565 นครราชสีมา
จากผลการดำเนินงานไตรมาส 1-3 (ตุลาคม 2564 – มิถุนายน 2565) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 3,446,102 คน สร้างรายได้ 16,344 ล้านบาท โดยทีเส็บคาดการณ์ภายในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) จะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 6,130,000 คน คิดเป็นรายได้ 28,400 ล้านบาท