ทีเส็บ จับมือ ขอนแก่น เปิดประตูสู่ไมซ์ซิตี้แห่งภาคอีสาน รองรับศูนย์กลางอินโดจีน-จีนตอนใต้

กรุงเทพฯ/1 กรกฎาคม 2556 – สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ลงนามความร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่น พัฒนาไมซ์ซิตี้ลำดับที่ 5 ของไทย ดึงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 350 ราย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ปั้นขอนแก่นขึ้นแท่นศูนย์กลางการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าระดับสากล รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน


นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยเนื่องในโอกาสพิธีเปิดโครงการ “ประชุมเมืองไทย มั่นใจขอนแก่นพร้อม” และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ว่า “ความร่วมมือกับ ทีเส็บ ในการผลักดันขอนแก่นก้าวสู่การเป็นไมซ์ซิตี้ครั้งนี้ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาจังหวัด 4 ปี (2557-2560) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ขอนแก่นเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่มหานครแห่งอาเซียน” ประกอบด้วย 3 พันธกิจหลัก คือ 1. ชุมชนเข้มแข็ง พลเมืองมีความสุข 2. พัฒนาเมืองให้น่าอยู่และเป็นต้นแบบของการพัฒนาและบริหารงานจังหวัดอย่างมี บูรณาการ 3. พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของอนุภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน”


“พร้อมกันนี้ จังหวัดขอนแก่นยังได้กำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของจังหวัด มุ่งพัฒนาสู่เมืองศูนย์กลางบริการทางเศรษฐกิจของอาเซียนใน 6 ด้าน คือ ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และบริการ ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารสุข ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการประชุมและท่องเที่ยว และศูนย์อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์สามารถเข้ามาเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ของจังหวัดได้เป็นอย่างดี”


จังหวัดขอนแก่นมีศักยภาพหลากหลายด้านในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยความเป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในโครงการ “การพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor หรือ EWEC) เชื่อมโยงระหว่าง 5 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า ทำให้ขอนแก่นมีสถานะเป็นประตูสู่ อินโดจีน และจีนตอนใต้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต


อีกทั้ง ขอนแก่น กำลังพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในจังหวัด ขอนแก่น เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในจังหวัดมากขึ้น


นอกจากนี้ ขอนแก่นยังเป็นศูนย์กลางราชการ มีหน่วยงานตั้งอยู่กว่า 200 แห่ง ศูนย์รวมสถาบันอุดมศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข และยังเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของประเทศไทย ที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เป็นนครเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกเหนือจากจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ มีศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองรับผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 3,000 คน มีโรงแรมระดับ 5 ดาวต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วจังหวัด มีสนามบินที่พร้อมให้บริการถึงวันละ 32 เที่ยวบินในอนาคต ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐและเอกชน กำลังร่วมกันผลักดันให้สนามบินขอนแก่นพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติอย่างเต็มรูป แบบเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต


“ขอนแก่น มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นไมซ์ซิตี้ ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ ทีเส็บ ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะสร้างความตื่นตัวของหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 350 ราย ได้มีส่วนร่วมในการแสดงเจตจำนง เพื่อร่วมกันผลักดันขอนแก่นให้พัฒนาสู่การเป็นไมซ์ซิตี้ ศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าแห่งภาคอีสานรองรับลูกค้ากลุ่มทั้งใน ประเทศ กลุ่มอินโดจีนและจีนตอนใต้” นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่นเพื่อพัฒนาไมซ์ซิตี้ เป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ (Domestic MICE) แบบองค์รวม ที่เน้นภารกิจการพัฒนาไมซ์ซิตี้ใน 3 ด้าน – ด้านภารกิจเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ด้านการส่งเสริมตลาด และด้านการจัดการองค์ความรู้และให้คำปรึกษา และในวันนี้ จังหวัดขอนแก่นได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อม รวมถึงความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ พร้อมใจกันเพื่อร่วมขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นสู่ไมซ์ซิตี้แห่งที่ 5 ประตูสู่ไมซ์ซิตี้ภาคอีสาน รองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ”


พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ระหว่างสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ จะดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.การร่วมกำหนดแผนงานเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เกิดการจัดงานไมซ์ใน จังหวัดขอนแก่นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ 2. การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไมซ์ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาค เอกชนที่เกี่ยวข้องของจังหวัด 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อใช้ในการพิจารณาการวางผังเมือง การก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งของจังหวัดขอนแก่น และ 4. การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและความ สามารถ ในการแข่งขัน


ทีเส็บได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดขอนแก่นในการกำหนดแผนโรดแม็พในการพัฒนา ไมซ์ขอนแก่นออกเป็นระยะเวลาตั้งแต่พ.ศ. 2556 – 2559 โดยให้ความสำคัญกับ 3 ยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ดังนี้ กลยุทธ์การดึงงาน (Win) เพื่อรักษาตลาดเดิมและขยายตลาดเป้าหมาย กลยุทยธ์การส่งเสริม (Promote) ผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของไมซ์ในภูมิภาค และกลยุทธ์การพัฒนา (Develop) ให้ขอนแก่น เมืองแห่งไมซ์ มีความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์


ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556): เน้นการขยายตลาดไมซ์ในประเทศ โดยการนำงานแสดงสินค้าในประเทศที่ได้รับความสำเร็จกระจายไปจัดในภูมิภาคโดย มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายการเติบโตของเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับขอนแก่น ไมซ์ซิตี้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเมืองแห่งไมซ์ ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่มีศักยภาพที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น งาน OTOP และงานแม่โขง ฟอรั่ม 2013 โดยสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เป็นต้น


ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2557-2558): เน้นการพัฒนามาตรฐานไมซ์จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางไมซ์ของอินโดจีนและจีนตอนใต้ ผ่านการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ขอนแก่นในทุกภาคส่วน พัฒนาสาธารณูปโภคให้สามารถรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ในระดับภูมิภาค พร้อมเดินหน้าให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ขอนแก่น ไมซ์ซิตี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดโรดโชว์เพื่อแนะนำ ขอนแก่นไมซ์ซิตี้ ณ ประเทศกลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคอินโดจีน และอนุภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมกันนี้ ยังเตรียมจัดตั้งโครงการพัฒนามาตรฐานโรงแรมไมซ์ เพื่อพัฒนาความพร้อมของผู้ให้บริการไมซ์และเร่งขีดศักยภาพของบุคคลากรใน อุตสาหกรรม ชูจุดยืนการเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของการจัดงานไมซ์ระดับภูมิภาค


ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559): เน้นการบุกตลาด AEC เพื่อขยายฐานและเพิ่มขีดศักยภาพของจังหวัดให้สามารถรองรับการระเบียง เศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการสร้างศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค


จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นไมซ์ซิตี้ จากผลสำรวจในโครงการสำรวจสถิติ การจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยปี 2555 โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) พบว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดขอนแก่นมีมูลค่าสูงถึง 343 ล้านบาท


ทีเส็บ เห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของคนและโครงสร้างพื้นฐานรองรับไมซ์ จึงได้จัดโครงการ “ประชุมเมืองไทย มั่นใจขอนแก่นพร้อม” ขึ้นพร้อมกันครั้งนี้เพื่อปูพื้นฐานความรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ในจังหวัดขอนแก่น


“การพัฒนาเมืองขอนแก่นสู่การเป็นไมซ์ซิตี้อย่างเต็มรูปแบบนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และร่วมมือผลักดันไปในทิศทางเดียวกัน การจัดโครงการประชุมเมืองไทย มั่นใจขอนแก่นพร้อม ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ผู้แทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมรับฟังนโยบาย แสดงเจตจำนง ความพร้อมในการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป”


ในปี พ.ศ. 2556 นี้ ทีเส็บ ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจไมซ์ในประเทศร้อยละ 15 คิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 4.3 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศ 13,706 ล้านบาท” นายนพรัตน์ กล่าวสรุป


การจัดงาน ประชุมเมืองไทย มั่นใจขอนแก่นพร้อม กำหนดจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 กรกฏาคม 2556 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยภายในงานจัดให้มีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ของ ประเทศไทย เมืองไมซ์ซิตี้ รวมทั้งรูปแบบการจัดประชุมภายในประเทศ การออกร้านแสดงสินค้าท้องถิ่นของจังหวัด


# # #


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) 

นางสาวอริสรา ธนูแผลง

โทรศัพท์ 02-694-6095

อีเมล์ arisara_t@tceb.or.th

นายพิษณุ พลายแก้ว

โทรศัพท์ 02-694-6000 ต่อ 3014

อีเมล์ pishnu_p@tceb.or.th

แชร์บทความ