Carbon Footprint คือ ปริมาณรวมของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยวัดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เพื่อวัดผลว่า คน องค์กร และประเทศต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยขนาดไหน
ทีเส็บ ได้ตระหนักถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการจัดงานไมซ์ จึงได้หาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดงานไมซ์แบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Exhibition ที่ดำเนินงานร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดทำแบบแผนแนวทางปฏิบัติและเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณ Carbon Footprint ดังนี้
แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน เป็นคู่มือสำหรับผู้จัดงานที่ต้องการจัดงานไมซ์แบบ Carbon Neutral Exhibition โดยคู่มือฉบับนี้สามารถทำตามได้ง่าย แถมยังนำไปใช้ในวงกว้างได้อีกด้วย ซึ่งเนื้อหาในคู่มือแบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่ ที่ครอบคลุมการจัดงานไมซ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้แก่
การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ก่อนงาน: เน้นการใช้ดิจิทัลและออนไลน์เข้ามาช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และแจ้งแนวทางการจัดงานแบบรักษ์โลกให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบและเตรียมตัวล่วงหน้าเช่น แนะนำให้ผู้เข้าร่วมพกขวดน้ำส่วนตัวมาใช้ในงาน เพื่อการลดการใช้ขวดพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น
สถานที่จัดงาน: เลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการพัฒนาอย่างยังยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการพลังงาน หรือมาตรฐานทีเกี่ยวข้อง เช่น ISO20121, ISO14001, ISO50001, Thailand MICE Venue Standard (TMVS), ASEANMICE Venue Standard (AMVS), Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) เป็นต้น หรือมีนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยสามารถพิจารณาจาก MICE Sustainability Suppliers List, TMVS และ TSEMS รวมถึงการเลือกใช้สถานที่จัดงานที่ระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึง
การตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมอุปกรณ์: เน้นใช้อุปกรณ์ตกแต่งงานที่สามารถรีไซเคิลได้และใช้เท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในห้องจัดงานให้ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
อาหารและเครื่องดื่ม: ลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้งในการแจกจ่ายอาหารและเครื่องดื่มด้วยการเสริมพื้นที่บริการทดแทน รวมถึงเลือกวัตถุดิบออร์แกนิกท้องถิ่นในการประกอบอาหาร และจัดเตรียมอาหารในปริมาณที่พอดีกับผู้เข้าร่วมงาน ส่วนอาหารเหลือที่ยังรับประทานได้ สามารถนำไปบริจาคให้แก่องค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อแจกจ่ายต่อไป
ระบบลงทะเบียน: ลดการใช้กระดาษ หันมาใช้ระบบลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ผ่านแบบฟอร์มทางอีเมล การแสกน QR Code และเว็บไซต์แทน รวมถึงเลือกใช้บัตรประจำตัวแบบรีไซเคิลได้เพื่อนำกลับมาใช้อีกในการจัดงานครั้งต่อไป
การจัดเตรียมอื่น ๆ ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ: เลือกสถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เลือกใช้ของที่ระลึกจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดงาน รวมถึงมีการแยกขยะเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมงานเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
การสื่อสารและประชาสัมพันธ์หลังงาน: จัดทำสรุปข้อปฏิบัติงานและประชาสัมพันธ์ความสำเร็จ รวมถึงวิธีการจัดงาน ประโยชน์จากการจัดงานอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแม่แบบแก่ผู้จัดงานและสร้างความตระหนักด้านการจัดงานอย่างยั่งยืนให้แก่คนในอุตสาหกรรมไมซ์
นอกจากคู่มือแนวทางปฏิบัติฯ ดังกล่าวแล้ว ทีเส็บ และ อบก. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เข้ากับการจัดงานแบบ Carbon Neutral Exhibition ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า CF Event ซึ่งย่อมาจาก Carbon Footprint Event Calculator หรือเครื่องคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของงานอีเวนต์ โดยจะทำการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานอีเวนต์ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนจบ เช่น การเดินทาง การพักแรม อาหาร ของแจก ของเสียที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน และผู้จัดงานสามารถทำการชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการจัดงาน ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่ากับปริมาณการปล่อยเพื่อให้งานที่จัดนั้นเป็น “Carbon Neutral Exhibition” หรืองานที่จัดขึ้นโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ท่านที่สนใจแอปพลิเคชัน “CF Event” สามารถดาวน์โหลดได้ที่ App Store และ Play Store เพื่อร่วมกันพัฒนาและจัดงานอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน
นอกเหนือจากการจัดงานไมซ์ที่จะช่วยลด Carbon Footprint ได้แล้ว ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาได้ง่าย ๆ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เลือกใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทางแทนรถส่วนตัว เลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือมารีไซเคิล หรือแยกขยะก่อนทิ้งเป็นต้น และหากผู้จัดงานรวมถึงประชาชนทุกคนสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการจัดงานไมซ์หรือจากวิถีชีวิตประจำวันได้ ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากองค์กรและผู้จัดงานทั่วโลกในการเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้จัดงานที่ต้องการจัดงานไมซ์แบบ Carbon Neutral Exhibition สามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ https://bit.ly/3G5bNWI
ที่มาจาก: E-Book แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน
businesseventsthailand.com tgo.or.th ghgreduction.tgo.or.th