เลือกประเทศไทย

ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

editor image

    ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม”  ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน


1. พื้นที่ยุทธศาสตร์

ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น

  •   การส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือน กุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.6% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 827,139 ล้านบาท รวม 2 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท

แนวโน้มการส่งออกจากนี้ คาดว่า จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการผลิตฟื้นตัว และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สินค้าเกษตร ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์เติบโตตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงพาณิชย์ยังคงร่วมมือทำงานกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการตลาด และมีการผลักดันสินค้าของ SMEs ไปต่างประเทศ   

editor image

  •   การจัดตั้งธุรกิจใหม่ และการลงทุนในประเทศ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า 2 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2567) มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 17,270 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 45,794.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น 267 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1.57% ทุนจดทะเบียนรวมเพิ่มขึ้น 5,807.51 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.52%  ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่   ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,378 ราย  ทุนจดทะเบียน 3,020.09 ล้านบาท   ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,311 ราย  ทุนจดทะเบียน 5,275.20 ล้านบาท  และธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 743 ราย ทุนจดทะเบียน 1,374.09 ล้านบาท 

สำหรับธุรกิจที่น่าสนใจและมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต โดยระหว่างเดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 479 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 555.06 ล้านบาท คิดเป็น 2.77% และ 1.21% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนและมูลค่าการจดทะเบียนจัดตั้ง 2 เดือน  ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า จดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้น 116 ราย หรือเพิ่มขึ้น 31.96% ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 137.43 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 32.91% จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 363 ราย ทุนจดทะเบียน 417.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติสนใจเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนหลากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) กลับมาเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าช้าและหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึง นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตตามไปด้วย


  •  มาตรการส่งเสริมการลงทุน ปี 2567

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน ปี 2567 

โดยมุ่งเน้นภารกิจ 5 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1) ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และกิจการสำนักงานภูมิภาค จากกลุ่มนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรป

2) ยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ อาทิ ส่งเสริมการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญผลักดันการใช้พลังงานสะอาด

3) ดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศผ่านมาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) และการปรับปรุงศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service)

4) เชื่อมผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น EV และแผ่นวงจรพิมพ์

5) สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ อาทิ การใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น


2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย

    ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชีย มีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคระดับมาตรฐาน ศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีไมซ์ซิตี้จำนวน 10 เมือง ได้แก่ กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก พัทยา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี พร้อมเพิ่มทางเลือกในการจัดกิจกรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบ

  •   ท่าอากาศยาน 

ท่าอากาศยานไทย ขานรับนโยบายตั้งเป้าหมายศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation hub) และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลกด้วย 46 โครงการ โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานระยะเร่งด่วน จำนวน 8 โครงการ รวมถึงแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และปรับปรุงท่าอากาศยานเดิมทั่วประเทศ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เป็นต้น

ขณะเดียวกันท่าอากาศยานไทยยังร่วมมือกับการบินไทย ผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิ สู่ฮับการบินระดับชั้นนำของโลก โดยมุ่งพัฒนาเครือข่ายเส้นทาง พัฒนาประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเที่ยวบินในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารตารางเวลาขึ้น-ลงเที่ยวบิน การลดระยะเวลาขั้นต่ำในการต่อเครื่อง (Minimum Connecting Time) การขยายเวลาการเช็คอินล่วงหน้า การบริหารหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) การบริหารอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบิน C D และ E เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารของการบินไทยและสายการบินพันธมิตรสตาร์อัลไลแอนซ์ และหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ


editor image

เครดิต : เพจกรมประชาสัมพันธ์

  •   โครงการก่อสร้างสายทางเลี่ยงเมืองปัตตานี

กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางเลี่ยงเมืองปัตตานี ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 418 (บ้านมะพร้าวต้นเดียว)-อ.ยะหริ่ง ระหว่าง กม.7+800-22+000 พื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก จนถึง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 14.200 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณ 1,851,933,109 บาท แล้วเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนสัญจรแล้ว คาดว่าในช่วงเดือนแรกที่เปิดให้บริการอาจจะมีปริมาณจราจรสูงสุดถึง 5,000 คันต่อวัน และในอนาคตสามารถรองรับปริมาณเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 คันต่อวัน และอาจสูงถึง 20,000 คันต่อวัน โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ส่งเสริมตามโครงการเมืองต้นแบบที่รัฐบาลให้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานอีกด้วย เนื่องจาก เป็นเส้นทางที่มีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

editor image

เครดิต : เพจกรมทางหลวง

3. การพัฒนาในประเทศไทย

  •   การพัฒนาด้านระบบคมนาคม

กระทรวงคมนาคม มีแผนเร่งรัดโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ "M-MAP 2" โดยจะนำร่องในเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้าจากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) แยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 

  •   การพัฒนาด้านเทคโนโลยี

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BIG DATA INSTITUTE (BDI) องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าหนุนใช้ Big Data และ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนากำลังคนด้านข้อมูล เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีโปรเจกต์หลัก 3 ด้านดังนี้:

1) โปรเจกต์ BIG: เน้นการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานต่าง ๆ และให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการบริการด้านวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่แก่หน่วยงานภาครัฐและบริการด้านวิศวกรรมข้อมูล เช่น โครงการ Health Link โครงการ Travel Link เป็นต้น

2) โปรเจกต์ Bridge: พัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล ประกอบด้วย Big Data Business Promotion, Big Data Ecosystem & Industrial Promotion, Research And Innovations และ Thai Large Language Model (ThaiLLM)

3) โปรเจกต์ Learn: การพัฒนากำลังคนด้าน Big Data โดยให้การฝึกอบรมและการเรียนรู้เชิงปฏิบัติเพื่อปรับปรุงทักษะและเพิ่มความสามารถของบุคคลในยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักวิเคราะห์ข้อมูลและวิศวกรข้อมูล รวมถึงการให้บริการเรียนรู้ออนไลน์เพื่ออัพสกิลและเพิ่มทักษะใหม่ในยุคดิจิทัล

editor image

เครดิต : เพจ BDI - Big Data Institute 

  •    การพัฒนาด้านบุคลากร

    ทีเส็บ เข้าร่วมขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในงาน GCNT Forum 2023 ในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อเร่งเตรียมตัวเข้าสู่ยุค 5.0 สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี ผสมผสานกันอย่างลงตัว รวมถึงต้องมีความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน (Sustainable Intelligence-Based Society หรือ “SI Society”)  โดยการจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรด้านความยั่งยืนของ สสปน. ร่วมกับ สหประชาชาติในประเทศไทย (UN Thailand) ซึ่ง GCNT เป็นเครือข่ายภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีสมาชิกภาคธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 100 องค์กรที่พร้อมจะยกระดับการบริหารและการจัดงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายหลักที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจให้ตอบสนองต่อนโยบายของประชาคมโลกที่มุ่งเป้าเรื่องการบริหารการจัดงานอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสปน. ในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการไมซ์ให้มีความสามารถในการให้บริการการจัดการงานไมซ์ได้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

editor image

เครดิต : เพจ MICE in Thailand

เลือกประเทศไทย

  • new-experience

    ประสบการณ์ใหม่

  • various-places

    หลากหลายสถานที่

  • full-service

    บริการครบวงจร

  • thai-identity

    เอกลักษณ์ไทย

  • connecting-hub

    ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย