เลือกประเทศไทย

(OCT23) ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย

editor image

    ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ วางกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ร่วมพัฒนาเมืองไมซ์ซิตี้ 10 แห่งประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการประจำภูมิภาค 4 ภาค ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค สนับสนุนการจัดงานและผู้จัดงานไมซ์ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าลงทำงานเชิงรุกกระจายในพื้นที่ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หวังวางรากฐานไมซ์ไทยเพื่อก้าวขยายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของเอเชีย โดยร่วมกับจังหวัด สมาคม หน่วยงาน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด  เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมปลดล็อคธุรกิจไมซ์ในสูตร “ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม”  ชูเรื่องความปลอดภัยในการดันไมซ์ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย ชิงความได้เปรียบในทุกด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ที่วันนี้ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน


1. พื้นที่ยุทธศาสตร์ (Strategic Location)

ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มีการถ่ายเทสินค้า บริการ ฝีมือแรงงาน และการค้าการลงทุนระหว่างกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเซีย และเป็นประเทศฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที เป็นต้น

  •   การส่งออก 

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% เป็นการส่งออกที่กลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยการส่งออกของไทยที่กลับมาเป็นบวกได้ 2.6% ได้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น มังคุด ขยายตัวกว่า 20,000% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็กลับมาดีขึ้น สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ส.ค.2566 เช่น 1.สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ผลักดันให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัว ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียนดีขึ้น และ 2.การตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงทำให้มีการสั่งซื้อหรือส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีส่วนช่วยให้เกิดการผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น

การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

editor image

  เครดิตภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

  •   การลงทุนในประเทศไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่าช่วง 8 เดือนของปี 2566 (มกราคม - สิงหาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 435 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 65,790 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 4,491 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทยในหลายด้าน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการซอฟต์แวร์ ประเภท ENTERPRISE SOFTWARE และ DIGITAL CONTENT ทั้งนี้ เฉพาะเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 58 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,840 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 897 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องกง

  •   แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 66-70

คณะรัฐมนตรี  เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2566 -2570 ประกอบด้วย โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม จำนวน 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งได้ดังนี้

- ระยะเร่งด่วน (เริ่มต้นปี 2566) จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับ รถไฟความเร็วสูง (HSR) ระยะที่ 1 (ชลบุรี-บ้านบึง-EECi และ ระยอง-บ้านค่าย-EECi) โครงการก่อสร้าง High speed taxiway และ Taxiway เพิ่มเติม (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) โครงการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะ (ITS) โครงการจัดหาพลังงานสะอาด

- ระยะกลาง (เริ่มต้นปี 2567-2570) จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง โครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการพัฒนาการให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ) โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา


2. การเข้าถึงได้สะดวกสบาย (Easy Access)

ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชีย มีความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคระดับมาตรฐาน ศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีไมซ์ซิตี้จำนวน 10 เมือง ได้แก่ กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก พัทยา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี พร้อมเพิ่มทางเลือกในการจัดกิจกรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบ

  •   ท่าอากาศยาน

ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยืนยันความพร้อมเปิดให้บริการของอาคาร SAT-1 ในเดือนกันยายนนี้เต็มรูปแบบ ทั้งระบบเชื่อมโยงสัมภาระกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสาร ระบบ APM การขนส่งผู้โดยสารจากอาคารหลักมายังอาคาร SAT-1 รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านค้าปลอดภาษีและร้านอาหาร โดยช่วง 6 เดือนแรกจะทดสอบการให้บริการในภาพรวมทั้งความพร้อมของระบบ ความพร้อมผู้บริการภาคพื้น และสายการบินต่าง ๆ ที่สมัครใจย้ายมาให้บริการที่อาคาร SAT-1 โดยจะมีเที่ยวบินให้บริการประมาณ 20 เที่ยวบินต่อวัน จากทั้งหมดสามารถรองรับได้ถึง 200 เที่ยวบินต่อวัน รวม 28 สะพานเทียบเครื่องบิน หรือรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ ทอท. ได้เตรียมยกระดับสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ทั้งระบบขนถ่ายผู้โดยสารทางอากาศและทางภาคพื้นมีประสิทธิภาพและลดความแออัดระบบจราจรภายในท่าอากาศยานที่ในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี โดยหากพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคนต่อ

editor imageเครดิต : ท่าอากาศยานไทย

  •   โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเขตนิคมฯ มาบตาพุด มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับการลงทุนใน อีอีซี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างการลงทุนในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าโครงการท่าเรือมาบตาพุดฯ ระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2570

  • ศูนย์ขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี 

ซึ่งนับเป็นศูนย์ขนส่งภายในท่าอากาศยานแห่งแรกในประเทศไทยของสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม โดยศูนย์ขนส่งแห่งนี้จะเป็นต้นแบบของการจัดระเบียบผู้โดยภาคพื้นกับบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อาทิ Ubon Smart Bus, รถโดยสารสาธารณะ, รถบริการ Taxi, รถเช่าส่วนบุคคลประเภทต่างๆ ร่วมถึงการให้บริการพื้นที่จอดรถในร่มกว่า 220 คัน บนพื้นที่ 6,800 ตร.ม.

ภายในอาคารรูปตัว L เป็นอาคารโถงพื้นที่ใช้สอย 900 ตร.ม. มีบริการที่นั่งพักคอยสำหรับผู้โดยสารพร้อมจอแสดงสถานะการขึ้น-ลง ของเครื่องบิน รวมถึง หมายเลข/เวลาเข้า-ออก รถโดยสารสาธารณะ ส่วนห้องน้ำจะอยู่บริเวณโถงปีกซ้าย และ ปีกขวา รวมถึงบริการพื้นที่ร้านเครื่องดื่มและของที่ระลึก โดยภายในอาคารมีประตูเข้า-ออก เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานที่ ประตู 1 และ 2 ส่วนประตู 3-4-5 จะเชื่อมออกสู่บริเวณจุดจอดรถสาธารณะที่มีช่องจอดระบุหมายเลข 1 ถึง หมายเลข 35 เป็นลักษณะตัวยู (U) นอกนั้นเป็นพื้นที่ของรถ Taxi และ รถยนต์ส่วนบุคคล

ศูนย์ขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลฯ งบประมาณก่อสร้าง 86.8 ล้านบาท กำหนดส่งมอบผลงานภายในเดือนกันยายน และพร้อมเปิดให้บริการประชาชนในเดือน ตุลาคม 2566

3. การพัฒนาในประเทศไทย (New Development)

  •   การพัฒนาด้านระบบคมนาคม

กรมราง สรุปแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ที่มีแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) ทั้งสิ้น 33 เส้นทาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. เส้นทาง M-MAP 1 ที่ยังไม่ดำเนินการ จำนวน 8 เส้นทาง 2. เส้นทางใหม่ จำนวน 14 เส้นทาง  3. เสนอต่อขยาย จำนวน 11 เส้นทาง ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2  สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

- กลุ่ม A1 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็นและมีความพร้อมดำเนินการทันที จำนวน 4 เส้นทาง  ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-ธรรมศาสตร์ 2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา 3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช 4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-บึงกุ่ม  

- กลุ่ม A2 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน คาดว่าดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2572 จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง 2. รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส 3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน 4. รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน 5. รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ (Light Rail) 6. รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ

- กลุ่ม B คือ เส้นทางมีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-MAP 1 หรือเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ จำนวน 9 เส้นทาง

- กลุ่ม C คือ เส้นทาง Feeder ดำเนินการเป็นระบบ Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 26 เส้นทาง

editor image

เครดิตภาพ : กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

  •   การพัฒนาด้านเทคโนโลยี

Virtual Experience หรือ เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็น AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality), MR (Mixed Reality) รวมถึง Metaverse ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการจัดงานเพื่อสร้างประสบการณ์อันแปลกใหม่ให้นักเดินทางและผู้เข้าร่วมงานไมซ์ ในขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติในหลากหลายด้านจากการลดต้นทุนในการจัดงาน สถานที่ในการรองรับผู้เข้าร่วมงาน อาหารสำหรับจัดเลี้ยง การจัดการ และลดปริมาณขยะ รวมถึงปัญหาการเดินทางเพื่อเข้าร่วมงานของนักเดินทางจะหมดไป เมื่อเทคโนโลยี สร้างประสบการณ์เสมือนที่สมจริงได้ทลายข้อจำกัดเหล่านี้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยมลพิษ ลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะหรือของเสียต่าง ๆ รวมถึงลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้าน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับงานไมซ์

  •   การพัฒนาด้านบุคลากร

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ได้เปิดตัวหลักสูตร “หลักสูตรมาตรฐานรับรองคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับบัณฑิตจบใหม่” (Certification for Young Professional Program) ที่ได้พัฒนาร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันพุธที่ 9 ส.ค. 2566 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยหลักสูตรนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับทักษะที่สำคัญที่เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมไมซ์ให้นักศึกษาจบใหม่มีความพร้อมในการเริ่มต้นความเป็นมืออาชีพในสายอาชีพไมซ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถ สร้างโอกาสเข้าทำงานที่ตรงเป้าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการไมซ์ ช่วยต่อยอดให้ธุรกิจไมซ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนได้ผ่านเครือข่ายการศึกษาไมซ์


เลือกประเทศไทย

  • new-experience

    ประสบการณ์ใหม่

  • various-places

    หลากหลายสถานที่

  • full-service

    บริการครบวงจร

  • thai-identity

    เอกลักษณ์ไทย

  • connecting-hub

    ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์เอเชีย